ประวัติวิทยาลัยพณิชยการเชตุพน  (27/06/2560)


ประวัติวิทยาลัยพณิชยการเชตุพน

วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน ปัจจุบันวิทยาลัยตั้งอยู่ที่ 126 ถนนประชาอุทิศ แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10140 โทร. 02-427-3399 โทรสาร 02-427-5066  พื้นที่ทั้งหมด 14 ไร่ 2 งาน 59 ตารางวา เป็นสถานศึกษาด้านพาณิชยกรรม อักษรย่อ พ.ต ได้ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า 59 ปี โดยเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2500 โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาน สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามวรมหาวิหาร ในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 และชื่อเดิมคือ โรงเรียนวัดพระเชตุพนตั้งตรงจิตรวิทยาลัย ปัจจุบันคือ “วิทยาลัยเทคโนโลยีตั้งตรงจิตรพาณิชยการ” สังกัดกองโรงเรียนพาณิชย์และอุตสาหกรรม กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่บริเวณสังฆาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ท่าเตียนในการจัดตั้งนั้นเพื่อรับนักเรียนไม่มีที่เรียน โดยขอเช่าอาคารโรงเรียนตั้งตรงจิตรวิทยาลัย ในปีแรก โรงเรียนได้เปิดสอนเพียง 3 สาขาวิชา คือ แผนกพณิชยการ แผนกเลขานุการ และ แผนกภาษาต่างประเทศ
พ.ศ. 2500 : การเปิดสอนครั้งแรกมี นายบัณฑิต บุณยาคม เป็นอาจารย์ใหญ่ และในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2502 มล.ปิ่น มาลากุล ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มาตรวจเยี่ยมโรงเรียน จึงริเริ่มโครงการขยายให้โรงเรียนกว้างขึ้น
พ.ศ. 2509 : กรมอาชีวศึกษาได้มีโครงการย้ายโรงเรียนไปตั้งสถานที่แห่งใหม่คือ โรงเรียนการช่างอินทราชัย ประตูน้ำ (วิทยาลัยพณิชยการอินทราชัยในปัจจุบัน) โดยมีนายปัญญา โชติคุณ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนการช่างอินทราชัย และนายสุพจน์ สุขกมล อาจารย์เอก เป็นผู้เสนอให้ปรับปรุงและขยายโรงเรียนวัดพระเชตุพนตั้งตรงจิตรวิทยาลัย เป็นโรงเรียนพณิชยการแห่งใหม่ ณ โรงเรียนการช่างอินทราชัย แต่ปรากฎว่าที่ดินคับแคบ จึงต้องระงับโครงการดังกล่าว ต่อมาจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถรับได้ทั้งหมด รับได้เพียง ปีละ 450 คนเท่านั้น ไม่สามารถขยายได้ เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ในเขตวัด
พ.ศ. 2511 : กรมอาชีวศึกษาได้เช่าที่ดินของ คุณละออ ลิ่มเซ่งไถ่ ซึ่งมอบที่ดินให้กับกรมการศาสนา ใช้ประโยชน์ทางการศึกษาที่ถนนประชาอุทิศ แขวง/เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ หลังจากนั้นโรงเรียนได้เสนอขอเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนพณิชยการเชตุพน และยังคงให้ใช้อักษรย่อ พ.ต. ตามเดิม เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันได้ต่อเนื่องกัน
พ.ศ. 2516 : โรงเรียนได้เปิดการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มี 3 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาการเลขานุการ สาขาวิชาการตลาด
พ.ศ. 2516 : โรงเรียนพณิชยการเชตุพน ได้รับการยกฐานะ เป็นวิทยาลัยพณิชยการเชตุพน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2516
พ.ศ. 2519 : ปีการศึกษา 2519 วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน ขออนุมัติเปิดการศึกษาพิเศษ ระดับประโยคครูมัธยม (ป.ม.) ขึ้นอีกระดับหนึ่ง
พ.ศ. 2524 : กรมอาชีวศึกษาได้อนุมัติให้วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน เปิดสอนประเภทวิชาพณิชยกรรม สาขาวิชาพาณิชยการ โดยจัดให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามความถนัด ได้แก่ กลุ่มวิชาการบัญชี กลุ่มวิชาการเลขานุการ และกลุ่มวิชาการขาย
พ.ศ. 2528 : วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน ได้เปิดสอนอีก 1 สาขาวิชาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) คือ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
พ.ศ. 2535 : กรมอาชีวศึกษาได้ร่วมมือกับกลุ่มโรงแรมรอยัลการ์เด้น เปิดหลักสูตรพิเศษต่อยอดจากระดับ ปวช. แผนกวิชาธุรกิจการโรงแรม โดยมีระยะเวลาเรียน 1 ปี ซึ่งเป็นหลักสูตรพิเศษ
พ.ศ. 2538 : วิทยาลัยได้เปิดสอนระดับประกาศนียบัตร (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) คือ กลุ่มวิชาธุรกิจโรงแรม และยังได้เปิดสอน กลุ่มวิชาธุรกิจค้าปลีก โดยได้รับความร่วมมือจกสถานประกอบการ คือ บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น
พ.ศ. 2540 : วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน ได้เปิดสอนเพิ่มขึ้นอีก 1 สาขาวิชา คือ ธุรกิจประกันภัย และเนื่องจากมีผู้สนใจ กรมอาชีวศึกษาได้อนุมัติให้วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในภาคสมทบ 3 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาการตลาด และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ โดยที่ผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในระดับ ปวส. ภาคสมทบ จะต้องสำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. มีงานทำแล้วและประสงค์จะเพิ่มวุฒิการศึกษาขึ้น โดยจัดให้มีการเรียนการสอนวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 17.30 – 21.00 น. และวันเสาร์ 13.00 – 20.00 น.
พ.ศ. 2545 : วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน ได้เปิดสอนวิชา อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว สาขางานการโรงแรม ในปัจจุบันวิทยาลัยพณิชยการเชตุพน ได้ผลิตบุคลากรทางธุรกิจ เพื่อให้เข้าถึงความต้องการของตลาดแรงงานและสังคม มีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ และมีคุณธรรม ตามปรัชญาของวิทยาลัยพณิชยการเชตุพน “การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพและสังคม”
ดอกไม้ประจำวิทยาลัย คือ “ดอกแก้วเจ้าจอม” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้นแก้วเจ้าจอมไว้เป็นที่ระลึกในบริเวณวิทยาลัย เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียนหลังที่ 4 และสมาคมศิษย์เก่าพณิชยการเชตุพน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2520

คณะผู้บริหารวิทยาลัยพณิชยการเชตุพน

นายชัยฤทธิ์ แสงสว่าง ผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการเชตุพน

นางสาวมัลลิกา โสภณลัคนา รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการ

ว่าที่ ร.ต. บุญชัย รัตนกังวานศ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ

นายศิรเมศร์ พัชราอริยธรณ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา

นายวิโรจน์ จันทรมณี รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารทรัยากร

ปัจจุบันวิทยาลัยพณิชยการเชตุพนได้เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)

และระดับปริญญาตรี

ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาที่เปิดทำการสอน

1. สาขาวิชาการบัญชี

2. สาขาวิชาการตลาด

3. สาขาวิชาการเลขานุการ

4. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

5. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก

6. สาขาวิชาการโรงแรม

7. สาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก (ทวิภาคี)

ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาที่เปิดทำการสอน

1. สาขาวิชาการบัญชี

2. สาขาวิชาการตลาด

3. สาขาวิชาการเลขานุการ

4. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

5. สาขาวิชาการโรงแรม

6. สาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก (ทวิภาคี)

ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาที่เปิดทำการสอน

1. หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี (ต่อเนื่อง)

2. หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด (ต่อเนื่อง)

3. หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาการโรงแรม (ต่อเนื่อง)

ระบบบริหารจัดการห้องสมุด Happy Library